วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

ผักตำลึงลดระดับน้ำตาล
ยาเบาหวาน คลานตามรั้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt, Coccinia cordifolia Gagnep
วงศ์ Cucurbitaceae
ชื่ออื่นๆ ผักแคบ (ภาคเหนือ) แคเต๊าะ (แม่ฮ่องสอน) ผักตำนิน (อีสาน)
ชื่อสามัญของตำลึงหรือชื่อภาษาอังกฤษ Ivy gourd 




"ตำลึง”ผักที่ขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา มักชอบขึ้นตามแนวริมรั้ว ริมทางเดิน มีชื่อเรียกต่างกันว่า ผักแคบ แคเด๊าะ สี่บาท และผักตำนิน มี 2 ชนิด คือตำลึงตัวเมียและตำลึงตัวผู้ ที่เรากินยอดกินใบกันอยู่นี้เป็นตำลึงตัวเมีย นับเป็นพืชสมุนไพรใกล้ตัวเราชนิดที่หลายคนมองข้ามสรรพคุณทางยาของมันที่มีมากมาย 
ข้อแตกต่างระหว่างตำลึงเพศผู้ กับตำลึงเพศเมีย ก็อยู่ตรงลักษณะของใบ หลายคนอาจจะบอกว่า แค่เรื่องของใบตำลึงจะมาบอกทำไม แต่ลองอ่านกันสักนิด รับรองมีประโยชน์มากทีเดียว

ใบตำลึงเพศผู้ ไม่นิยมนำมารับประทาน และสำหรับท่านที่ธาตุไม่ดี หากรับประทานใบ หรือยอดตำลึงเพศผู้เข้าไป จะทำให้ท้องเสียได้ คือถ่ายไม่หยุด เพราะฉะนั้นหากจะเก็บยอดตำลึงมารับประทาน ควรเลือกที่ใบมนๆ หรือต้นเพศเมีย จะปลอดภัยกว่า

การใช้ประโยชน์อื่นๆ
ตำลึงเป็นผักที่นิยมนำยอดมาลวกหรือนึ่ง เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำยอดอ่อน ใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงจืด แกงเลียง ใส่ก๋วยเตี๋ยว ผัดน้ำมัน ใส่ในแกงแค แกงปลาแห้ง ผลอ่อนนำมานึ่งกิน ดองกินกับน้ำพริกได้ ผลอ่อนที่ก้านดอกเริ่มจะหลุดกินสดได้กรอบอร่อย ไม่ขม เป็นยาบำรุงสุขภาพ รักษาปากเป็นแผล ผลอ่อนที่ยังหนุ่มๆ อยู่จะมีรสขมต้องคั้นน้ำเกลือให้หายขมก่อนนำมาแกง ส่วนผลสุกคนกินได้ สัตว์ก็ชอบกิน
นอกจากนี้ ตำลึงยังเป็นผักที่ใช้แทนผงชูรสได้ โดยนำใบทั้งแก่ทั้งอ่อนประมาณกำมือใส่ต้มไก่ ต้มปลา ต้มเป็ด จะมีรสชาติออกมาหวานนัวเหมือนกับใส่ผงชูรส
ตำลึงมีวิตามินเอสูงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการตามัวจากการขาดวิตามินเอ และเหมาะกับคนผิวแห้งไม่มีน้ำมีนวล เพราะนอกจากจะมีวิตามินเอสูงแล้วยังมีวิตามินบี ๓ ที่ช่วยบำรุงผิวหนังได้เป็นอย่างดี
ตำลึงเป็นผักที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ มากคุณค่าทางโภชนาการ ให้แคลเซียมสูงน้องๆ นม การกินผักตำลึงเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง กระดูกแข็งแรง

การใช้ประโยชน์ทางยา
ตำลึงเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคผิวหนังพวกผื่นแพ้ ตำแย หมามุ่ย หนอนคัน บุ้ง หอยคัน มดคันไป ผื่นคันจากน้ำเสีย ผื่นคันจากละอองข้าว ผื่นคันชนิดที่ไม่รู้สาเหตุ เริม งูสวัด สุกใส หิด สิว ฝีหนอง เป็นต้น
ส่วนการกินตำลึงจะช่วยระบายท้อง ลดการอึดอัดท้องหลังกินอาหารเนื่องจากมีสารช่วยย่อยแป้ง และช่วยแก้ร้อนใน เป็นต้น
ที่สำคัญคือตำลึงเป็นยาพื้นบ้านใช้รักษาเบาหวาน ทั้งราก เถา ใบ ใช้ได้หมด มีสูตรตำรับหลากหลาย และในตำราอายุรเวทก็มีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี ชาวเบงกอลในอินเดียใช้ตำลึงเป็นยาประจำวันสำหรับแก้โรคเบาหวาน

รายงานการศึกษาวิจัย
สำหรับการรักษาเบาหวานด้วยตำลึงนั้น ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับตำลึงจำนวนมากและเป็นสมุนไพรที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดตัวหนึ่ง จากการทบทวนผลการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดของทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลการลดน้ำตาลดีที่สุด ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในคนและสัตว์ทดลอง
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ตำลึงเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ค่อนข้างสูง สามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ ทั้งโรคเบาหวาน เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่าตำลึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนในใบตำลึงก็มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้นั่นเอง

ทั้งนี้การกินตำลึงเพื่อลดน้ำตาลในเลือด สามารถทำได้โดยใช้เถาแก่ของตำลึงประมาณครึ่งถ้วย นำมาต้มกับน้ำ หรือนำน้ำคั้นจากผลตำลึงดิบ ๆ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น น้ำตำลึงก็จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้

สรรพคุณของตำลึงที่ช่วยลดน้ำตาล คือ ใบ ราก ผล มีการศึกษาพบว่าการกินตำลึงวันละ ๕๐ กรัม (ครึ่งขีด) ทุกวันสามารถรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้
ข้อดีของตำลึงคือปลูกง่าย หาง่ายและราคาถูกกว่าโสมมากโดยเฉพาะในบ้านเรา

การปลูกและการขยายพันธุ์
ตำลึงมีการปลูกและขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ
1.       เพาะเมล็ด
2.       ปักชำด้วยเถา
การเพาะเมล็ด
มีวิธีการง่าย ๆ ดังนี้
  • เตรียมดินเหมือนปลูกผักทั่วไปผสมปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอกก็ได้ นำ ผลตำลึงแก่สีแดงแกะเอาเมล็ดออกมาโรยบนดินที่เตรียมไว้ โรยดินกลบหรือ ใช้ใบไม้แห้งกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น ตำลึงชอบดินชุ่มแต่อย่าให้แฉะ เพราะจะเกิดโรคโคนเน่าได้
  • เมื่อต้นงอกขึ้นมาสักประมาณ 5 ซม. เริ่มมีมือเกาะให้ทำค้าง(เนื่องจากตำลึงเป็นไม้เลื้อย จำเป็นต้องใช้ค้าง เพื่อให้ตำลึงไต่ขึ้นสู่ที่สูงเพื่อ รับแสงแดด ) เหมาะที่สุดคือ ความสูงระดับ 1 เมตรขึ้นไป แต่ไม่ควรสูงเกิน 3 เมตร เพราะจะไม่สะดวกในการเก็บยอดตำลึง โดยใช้ไม้ไผ่ต้นเล็ก 3 ต้น ปัก เป็น 3 เส้า รอบปลายเชือกเข้าไว้ด้วยกัน ผูกด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกปอ ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง หรือหากมีรั้วไม้ระแนง ก็ถือโอกาสใช้ประโยชน์โดยโรยเมล็ดไปตามริมรั้วเลยทีเดียว
  • ตำลึงต้องได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ลมโกรกผ่านได้ ตำลึงจะ สังเคราะห์แสงแดดคายไอน้ำได้เต็มที่ ควรปล่อยให้มดแดงขึ้น เพราะจะช่วยกิน เพลี้ยและแมลงที่จะมากัดกินตำลึง
ปักชำด้วยเถา
การปลูกตำลึงเพื่อการค้านั้นนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ เนื่องจาก ตำลึงจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการเพาะด้วยเมล็ด
วิธีการปักชำ
  • ให้นำเถาที่แก่พอสมควรมาตัดให้ยาว 15 – 20 ซม. ปักชำในหลุม ปลูกที่ได้เตรียมไว้แล้ว( ลักษณะขั้นตอนการปลูกเหมือนกับหัวข้อการเพาะ เมล็ด ) พอเจริญเติบโตเต็มที่ประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเก็บยอดมาปรุงอาหาร ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ตำลึงแตกยอดใหม่ทยอยออกมาตลอดปี ต้องหมั่น เก็บมาบริโภคอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันให้ใส่ปุ๋ยคอก ช่วยเพิ่มเติมอาหารในดิน ประมาณเดือนละครั้ง ต้องหมั่นรดน้ำสม่ำเสมอในหน้าแล้งและหน้าหนาว ส่วนหน้าฝนจะเว้นได้บ้างแต่ต้องช่วยรดน้ำในขณะที่ฝนทิ้งช่วง
การขยายพันธุ์ : เมล็ด ใช้เมล็ดจากผลแก่ หยอดลงในหลุม เมื่อต้นกล้างอก หาไม้ปักเป็นหลัก เพื่อให้ตำลึงเลื่อย ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย นอกจากนั้นสามารถนำเถาแก่ปักชำ โดยตัดเถาแก่ขนาด 5-6 นิ้ว ปักในถุงเพาะชำ เมื่อรากและยอดงอก ก็ย้ายไปปลูกในหลุม

การปลูก : พรวนดินให้ร่วนซุยผสมกับปุ๋ยคอก ขุดหลุมและหยอดเมล็ดในหลุม เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกหาไม้มาทำเป็นหลักให้ลำต้นเลื้อยพันบนหลัก ไม้ที่ทำเป็นหลักอาจจะปักพิงกับรั้วทแยงทำมุม 45 – 60 องศา ในระยะแรกพยายามจัดให้ต้นพันไปที่หลักอย่าให้เลื้อยไปตามผิวดิน หมั่นรดน้ำเช้า – เย็น และให้ปุ๋ย 2 – 3 สัปดาห์ต่อหนึ่งครั้ง เมื่อตำลึงทอดยอดยาว หมั่นเด็ดยอดมารับประทาน จะทำให้เกิดยอดใหม่ขึ้นมาแทน
การเก็บเกี่ยว
หลังจากที่ปลูก 30 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ ความยาว 50 ซม.กำละ 4 ขีด โดยสามารถเก็บได้ทุกๆ 5 วัน ต่อ 1 ร่อง ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกมักจะปลูกจำนวนร่องที่มากพอจะเก็บได้ทุกวัน
เทคนิค
เก็บช่วงเช้ามืด ยอดจะไม่ดำ หนวดจะขาวและห้ามใช้สารเคมีทุกชนิด เพราะตำลึงเป็นพืชที่มีความไวต่อสารเคมีใบจะด้าน หยิก ผลผลิตเสียหายทันที และรวดเร็ว จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัย

ตัวอย่างตำรับยาเบาหวาน
ตำรับ ๑ : นำรากผักตำลึง รากผักหวานป่า รากฟักข้าว รากกุ่มน้ำ รากุ่มบก ต้มกินติดต่อกันไปเรื่อยๆ
ตำรับ ๒ : ข้อรากผักตำลึงฝนกับน้ำดื่ม หรือใช้เถาผักตำลึงสับเป็นท่อนๆ ยาว ๒-๓ นิ้ว จำนวน ๑ กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มนาน ๑๕-๒๐ นาที นำมาดื่มเช้า-เย็น ติดต่อกันอย่างน้อย ๗-๑๐ วัน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด หรืออาจใช้ส่วนของต้น ใบ และราก ต้มรวมกันแทนเถาอย่างเดียวก็ได้
ตำรับ ๓ : นำยอดตำลึง ๑ กำมือหรือขนาดที่กินพออิ่มโรยเกลือหรือเหยาะน้ำปลา (เพื่อให้อร่อยพอกินได้) ห่อด้วยใบตอง นำไปเผาไฟให้สุกแล้วกินให้หมด หรือกินจนอิ่ม กินก่อนนอนติดต่อกัน ๓ เดือน
ข้อควรระวัง - ตำลึงมีทั้งตำลึงตัวผู้ และตำลึงตัวเมียดังกล่าวข้างต้น เป็นตัวเมียกินได้ไม่มีปัญหา หากเป็นตัวผู้ คนที่มีธาตุอ่อนอาจทำให้ท้องเสียได้!! ฉะนั้น ต้องสังเกตให้ดี
ที่มา
https://www.doctor.or.th/article/detail/11212
https://health.kapook.com/view195653.html   
https://www.karatbarsaec.com/
http://www.komchadluek.net/news/agricultural/233673
https://health.kapook.com/view195653.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมุนไพรลดระดับน้ำตาล น้ำมะระขี้นก น้ำตำลึง